โรคมือ เท้า ปาก

สังเกต สัญญาณอาการ มือ เท้า ปาก

หากคุณพ่อคุณแม่สังเกตว่าลูกรักเริ่มมีอาการดังต่อไปนี้ 

  • มีไข้ อ่อนเพลีย
  • เบื่ออาหาร ทานอะไรไม่ค่อยได้
  • เจ็บปาก มีแผลในปากคล้ายแผลร้อนใน
  • มีผื่นแดง หรือตุ่มใส ขึ้นบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า

แสดงว่าลูกรักของคุณอาจได้รับเชื้อไวรัส มือ เท้า ปาก หรือในบางกรณีที่เด็กเกิดมีแผลในปากในจุดที่คุณพ่อคุณแม่ไม่สามารถมองเห็นได้ชัดเจน แต่ไม่รู้ ไม่สามารถบอกได้ว่าตัวเองมีแผลในปาก แต่อาการจะมาในลักษณะที่ว่าไม่กลืนน้ำลาย น้ำลายไหล ไม่ทานอะไรเลย บวกกับมีการร้องไห้งอแงตลอด จากอาการเจ็บแผลในปาก ทางที่ดีควรรีบพาไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาตามอาการ เพราะในบางกรณีอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้

ป้องกันลูกรักให้ห่างไกล มือ เท้า ปาก

ในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรค หรือการรักษาโดยเฉพาะของโรค การดูแลและป้องกัน จึงเป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่สามารถทำได้เอง โดยจะส่งผลให้ลูกรักห่างไกลจากไวรัส มือ เท้า ปาก

  • หมั่นล้างทำความสะอาดมือ ทั้งก่อนและหลังรับประทานอาหาร หลังสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย และหลังการขับถ่าย
  • ดูแลความสะอาดของน้ำ และอาหารของลูกรัก
  • ใช้ช้อนกลางเวลาทานอาหาร
  • ดูแลรักษาความสะอาดของเล่น หรือข้าวของเครื่องใช้เป็นประจำ
  • หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของต่าง ๆ ร่วมกับผู้อื่น
  • หลีกเลี่ยงการพาลูกรักไปยังสถานที่ที่มีคนแออัด
  • ดูแลหลีกเลี่ยงไม่ให้ลูกรักสัมผัสหรือใกล้ชิดกับผู้ป่วย
  • ดูแลรักษาความสะอาดของสถานที่อยู่เสมอ ควรอยู่ในที่ที่อากาศถ่ายเทสะดวก
  • หากเริ่มสังเกตเห็นถึงอาการของโรคควรรีบพาลูกรักไปพบแพทย์ทันที

หัวใจสำคัญในการดูแลและป้องกันก็คือ หมั่นดูแลรักษาสุขอนามัยให้กับลูกรัก และปลูกฝังให้เด็กฝึกรักษาสุขอนามัยของตัวเอง เมื่อคุณพ่อคุณแม่สังเกตจนรู้ทัน และสามารถดูแลป้องกันลูกรักได้ โรค มือ เท้า ปาก ก็จะไม่สามารถทำอะไรลูกรักได้อีกต่อไป

สาเหตุของโรคมือเท้าปาก

โรคมือเท้าปากเกิดจากการติดเชื้อไวรัสในกลุ่มเอนเทอโรไวรัส ซึ่งมีมากกว่า 100 สายพันธุ์ โดยสายพันธุ์ที่ทำให้เกิดโรคที่พบได้บ่อย เช่น คอกซากีไวรัส เอ16 (coxsackievirus A16) และเอนเทอโรไวรัส 71 (enterovirus 71) กลุ่มเสี่ยงที่พบบ่อยคือ เด็กทารกและเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ซึ่งมักมีอาการรุนแรงมากกว่าเด็กโต สำหรับผู้ใหญ่พบโรคนี้ได้บ้าง

การวินิจฉัยและการวินิจฉัยแยกโรค

แพทย์จะทำการวินิจฉัยแยกโรคตามอาการ โดยผู้ป่วยที่มีผื่นที่มือ อาจต้องแยกออกจากโรคผื่นแพ้ โรคอีสุกอีใส ผื่นจากเชื้อไวรัสชนิดอื่นๆ สำหรับโรคมือเท้าปาก โดยทั่วไปแพทย์สามารถวินิจฉัยได้จากอาการและอาการแสดง แต่ถ้าผู้ป่วยมีอาการแทรกซ้อนรุนแรง แพทย์อาจทำการส่งตรวจเพิ่มเติมเพื่อยืนยัน ซึ่งการตรวจเพิ่มเติมนี้ไม่จำเป็นต้องทำในผู้ป่วยทุกราย ขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ ได้แก่

  • การส่งตรวจตัวอย่างสิ่งคัดหลั่งและ/หรืออุจจาระเพื่อหาเชื้อไวรัส (ใช้เวลาประมาณ 1-7 วัน ขึ้นกับวิธีการตรวจ)
    • การตรวจหายีนของไวรัสด้วยวิธี polymerase chain reaction (PCR)
    • การเพาะเชื้อไวรัส (virus culture)

การรักษาโรคมือเท้าปาก

นื่องจากในปัจจุบันโรคมือเท้าปากยังไม่มีการรักษาโดยเฉพาะ การรักษาจึงเป็นการรักษาอาการทั่วๆ ไปตามแต่อาการของผู้ป่วย เช่น เจ็บคอมาก รับประทานอะไรไม่ได้ ผู้ป่วยดูเพลียจากการขาดอาหารและน้ำ ก็จะให้พยายามป้อนน้ำ นมและอาหารอ่อน ในรายที่เพลียมากอาจให้นอนรักษาตัวในโรงพยาบาลและให้น้ำเกลือทางหลอดเลือด ร่วมกับให้ยาลดไข้แก้ปวด และ/หรือหยอดยาชาในปากเพื่อลดอาการเจ็บแผลในปาก ร่วมกับการเฝ้าระวังสังเกตอาการของภาวะแทรกซ้อนทางสมองและหัวใจ เป็นต้น

การป้องกันโรคมือเท้าปาก

เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคมือเท้าปาก สิ่งสำคัญที่สุดคือการดูแลรักษาสุขอนามัยที่ดี โดยคุณพ่อคุณแม่สามารถป้องกันโรคมือเท้าปาก รวมถึงป้องกันอาการแทรกซ้อนที่อาจรุนแรงถึงเสียชีวิตได้โดย

  • หลีกเลี่ยงการให้เด็กคลุกคลีหรือใกล้ชิดกับผู้ป่วย
  • รักษาอนามัยส่วนบุคคล โดยเฉพาะผู้เลี้ยงดูเด็กเล็กควรล้างทำความสะอาดมือก่อนหยิบจับอาหารให้เด็กรับประทาน และรับประทานอาหารที่สุก สะอาด ปรุงใหม่ๆ ไม่มีแมลงวันตอม ดื่มน้ำสะอาด
  • ไม่ใช้ภาชนะในการรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น โดยเฉพาะช้อน จาน ชาม แก้วน้ำ ขวดนม
  • เมื่อเช็ดน้ำมูกหรือน้ำลายให้เด็กแล้วต้องล้างมือให้สะอาดโดยเร็ว
  • รีบซักผ้าอ้อมหรือเสื้อผ้าที่เปื้อนอุจจาระให้สะอาดโดยเร็ว และทิ้งน้ำลงในโถส้วม ห้ามทิ้งลงท่อระบายน้ำ
  • หากเด็กมีอาการของโรคมือเท้าปากให้รีบพาเด็กไปพบแพทย์ และเมื่อแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคมือเท้าปาก ต้องให้เด็กหยุดเรียนอย่างน้อย 1 สัปดาห์ หรือจนกว่าแผลจะหาย

ในกรณีที่มีการติดเชื้อโรคมือเท้าปากชนิดที่มีอาการรุนแรงโดยเฉพาะมีการเสียชีวิต เช่น เชื้อเอนเทอโรไวรัส 71 สถานรับเลี้ยงเด็กหรือโรงเรียนอนุบาลอาจจำเป็นต้องใช้มาตรการการป้องกันที่เข้มข้นขึ้น เช่น

  • การปิดทั้งโรงเรียนเป็นเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ทำความสะอาดห้องเรียนและของเล่นต่างๆ
  • การคัดแยกเด็กป่วยออกตั้งแต่เดินเข้าที่หน้าประตูโรงเรียน
  • การหมั่นล้างมือ เช็ดถูทำความสะอาดห้องเรียนและของเล่นต่างๆ

สิ่งสำคัญที่สุดคือ คุณพ่อคุณแม่ซึ่งเป็นผู้ที่ใกล้ชิดกับลูกที่สุด จะต้องหมั่นสังเกตอาการ หากลูกมีอาการป่วยที่ผิดปกติ ควรรีบพบแพทย์ทันที

แผลร้อนในคืออะไร

      แผลร้อนใน คือ แผลในช่องปากที่มีขนาดเล็กและตื้น ประมาณ 80% ของแผลร้อนในทั้งหมดจัดเป็น ประเภทแผลร้อนในเล็ก ขนาดกลมหรือเป็นรูปไข่ มีสีเหลืองหรือขาวล้อมรอบด้วยสีแดง พบที่เนื้อเยื่ออ่อนในช่องปากหรือเหงือก โดยเฉพาะบริเวณด้านในริมฝีปาก กระพุ้งแก้ม หรือลิ้น

     ผลเสีย คือ เจ็บ ทำให้รับประทานอาหารหรือพูดคุยได้ลำบาก โดยส่วนใหญ่แผลร้อนในจะสามารถหายเองใน 1-2 สัปดาห์ โดยที่ไม่ต้องรักษา แต่ก็มีวิธีต่างๆ หรือยา ที่จะช่วยบรรเทาอาการของแผลร้อนในได้ แต่หากพบว่า แผลร้อนในมีขนาดใหญ่กว่าปกติหรือมีความเจ็บปวดมากกว่าปกติและไม่มีทีท่าว่าจะหายไป ควรปรึกษาแพทย์

Scroll to Top